วันเสาร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

มันก็คนเหมือนกันนั่นแหละ

สังคมมนุษย์แม้ว่าจะมี "วาทกรรม" ต่าง ๆ ที่พยายามกล่าวถึง สนับสนุน และส่งเสริมความเท่าเทียมกันของบุคคล ให้เป็นสังคมที่ไม่มีความแตกต่างกันจากสถานภาพการเกิด ฐานะ สถานภาพทางสังคม ฯลฯ แต่ในความเป็นจริงก็ต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถใช้คำพูดแบบเดียวกันหรือปฏิบัติแบบเดียวกันในสถานภาพที่แตกต่างกันได้ ท่านผู้อ่านลองคิดดูว่า การเลือกคำมาใช้พูดกับลูกน้องของท่านก็ยังแตกต่างจากคำที่ใช้พูดกับเจ้านายของท่าน แม้ว่าจะสื่อความหมายแบบเดียวกันก็ตาม


ผู้เขียนไปพบป้ายนี้ในห้องน้ำชายของศาลากลางจังหวัดแห่งหนึ่ง ห้องน้ำแห่งนี้ตั้งอยู่ติดกับห้องทำงานของท่านรองผู้ว่าฯ ก็เลยมีป้ายไปติดไว้เหนือโถปัสสาวะชายเพื่อให้ผู้มาประกอบกิจปฏิบัติตาม โดยป้ายระบุเอาไว้ว่า "กรุณากดน้ำหลังเสร็จกิจทุกครั้ง (กลิ่นเข้าห้องรอง ผวจ.)" และมีมือดีมาเติมข้อความด้วยปากกาสีน้ำเงินเอาไว้ว่า "มันก็เหม็นเป็นทุกคนนั่นแหละ" เขาคงจะพยายามสื่อว่า ถ้าจะให้กดน้ำทุกครั้ง ก็ควรจะให้กดมันทุกห้องน้ำ ไม่ใช่เอาตำแหน่งรองผู้ว่าฯ มาเป็นตัวกำหนดว่าต้องกดนะ ไม่งั้นเจ้านายหรือผู้ใหญ่จะเหม็น แล้วคนธรรมดาที่ไม่ใช่ระดับรองผู้ว่ามันเหม็นกันไม่เป็นหรืออย่างไร นี่คือ "อารยะขัดขืน" อย่างหนึ่งที่ดูน่ารักดี

วิกฤติพลังงาน ประเทศไทยติดบ่วงการบิดเบือนกลไกตลาด

ขอเขียนเรื่องวิกฤติพลังงานอีกครั้ง เพราะยิ่งสืบค้นและติดตามพัฒนาการของการบริโภคพลังงานในประเทศไทยไปลึกเท่าไหร่ ก็ยิ่งเห็นรูรั่วเต็มไปหมด และเมื่อหลายวันก่อนได้อ่านบทสัมภาษณ์ของผู้ที่ใช้รถกระบะที่เติมน้ำมันดีเซล เขาบอกว่าตอนนี้ลำบากมากเพราะน้ำมันดีเซลแพงขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่ารัฐจะให้เงินสนับสนุนเพื่อตรึงราคาให้อยู่ในระดับที่ประชาชนแบกรับไหว อีกทั้งจะเปลี่ยนหนีไปใช้พลังงานทดแทนแบบอื่นก็เป็นไปไม่ได้เสียอีก เพราะเครื่องยนต์ดีเซลไม่มีหัวเทียน จะติดแก๊สไม่ว่าจะเป็น LPG หรือ CNG ก็ต้องปรับแต่งลูกสูบซึ่งมีต้นทุนสูงเกินกว่าที่จะใช้งานแล้วคุ้มทุนในระยะเวลาที่เหมาะสม

พอไปนั่งอ่านหนังสือซื้อขายรถมือสอง ก็พบปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ คือโฆษณาขายรถเครื่องดีเซลทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นรถกระบะหรือรถตรวจการณ์ จะมีข้อความระบุไว้ว่า "ไม่เคยบรรทุกหนัก" หรือ "ไม่เคยลุย" ประกอบอยู่ในโฆษณาหลายชิ้น ทำให้เกิดความสงสัยว่า อ้าวแล้วซื้อรถที่ใช้เครื่องดีเซลมาใช้ทำไม เพราะหลักการของการใช้งานรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลคือใช้กับงานหนัก เช่น งานบรรทุก งานที่จะต้องวิ่งบนพื้นที่มีความต่างระดับกันมาก ดังนั้นเมื่อเป็นรถที่ใช้งานหนักจึงต้องใช้เครื่องยนต์ที่มีกำลังสูงอย่างเครื่องยนต์ดีเซล และที่ตามมากกับกำลังที่สูงขึ้นก็คือราคาน้ำมันดีเซลก็ต้องสูงตามไปด้วย

เมื่อไปสืบค้นราคาน้ำมันในตลาดโลก ก็พบว่าในปัจจุบันน้ำมันเบนซินราคาบาร์เรลละ ๑๒๐ เหรียญปลาย ๆ ในขณะที่น้ำมันดีเซลราคาบาร์เรลละ ๑๖๐ เหรียญปลาย ๆ และราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่พัฒนาแล้วต่าง ๆ ก็ล้วนแต่ตั้งราคาน้ำมันดีเซลสูงกว่าน้ำมันเบนซิน เพราะน้ำมันดีเซลใช้งานในภาคการขนส่ง รถที่ใช้ก็ต้องใช้กำลังมาก จึงต้องเอาไว้ใช้สำหรับการขนส่งเท่านั้น ไม่นำมาใช้กับการขนส่งบุคคลแบบส่วนบุคคล เช่น รถยนต์ส่วนตัว

แต่สำหรับประเทศไทย เรายอมรับว่ารายได้ของประชาชนต่ำเกินกว่าที่จะแบกรับค่าขนส่งแบบไม่มีการชดเชยได้ ภาครัฐจึงเอาภาษีของประชาชนทั้งประเทศมาเป็นเงินสนับสนุนเพื่อชดเชยราคาน้ำมันดีเซล โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ใช้กับการขนส่งเท่านั้น เพราะประชาชนทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนที่ใช้รถหรือไม่ใช้รถก็ตาม ก็จะได้ซื้่อสินค้าในราคาที่ถูกลงเมื่อเทียบกับการคิดตามราคาจริง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทั้งผู้ซื้่อและผู้ขายรถยนต์ก็เห็นช่องทางดังกล่าวว่าจะเอาภาษีของประชาชนที่ชดเชยราคาน้ำมันดีเซลมาเป็นประโยชน์กับตนเองได้ จึงมีการผลิตรถยนต์และรถกระบะเครื่องยนต์ดีเซลออกมาจำหน่าย โดยมุ่งเป้าไปที่กลุ่มที่ไม่ได้ใช้สำหรับการขนส่ง แต่ใช้เหมือนกับรถยนต์ส่วนตัว คือมีคนนั่งคนเดียวหรือไม่เกินสองสามคน และไม่เคยขนของหนักหรือวิ่งลุยในป่าในเขา ผลที่ตามมาก็คือ มีความต้องการสูงขึ้นในการใช้น้ำมันดีเซลที่มีราคาต้นทุนจริงสูงอยู่แล้ว เมื่อ Demand มาก และ Supply น้อย ราคาก็สูงขึ้นตามธรรมชาติ เงินที่ภาครัฐต้องชดเชยราคาน้ำมันดีเซลแทนที่จะใช้ในภาคการขนส่งสินค้าและขนส่งมวลชนเท่านั้นก็ต้องมาใช้ในการขนส่งบุคคลแบบส่วนตัว ผู้ที่ใช้รถกระบะแบบสี่ประตูวิ่งในเมือง ไม่เคยขนสินค้าหนัก ๆ หรือที่ใช้รถ SUV ที่วิ่งในเมืองเพื่อให้ดูเป็นหนุ่มสาวสปอร์ต มีรสนิยมสูงจงสำเหนียกเอาไว้เถิดว่าท่านเอาเงินภาษีประชาชนทั้งประเทศมาใช้เพื่อสนองตัณหาตนเองเท่านั้น ท่านก็ไม่ได้ต่างจากนักการเมืองที่ท่านด่าเช้าด่าเย็นแต่อย่างใด

ในทางวิชาการด้านการขนส่งระบุเอาไว้ว่า โครงสร้างต้นทุนของการขนส่งประกอบด้วยสามส่วน คือ ต้นทุนที่เกิดกับผู้ใช้งาน/ผู้เดินทาง ต้นทุนที่เกิดกับผู้ให้บริการ และต้นทุนที่เกิดกับสาธารณะ (คนทั้งหมดไม่ว่าจะเดินทางหรือไม่เดินทางก็ตาม เช่น สภาพอากาศที่เสียไปจากควันของรถ เป็นต้น) สำหรับประเทศไทยแล้่ว เรา "ติดบ่วงตนเอง" เพราะการที่ภาครัฐชดเชยราคาน้ำมันดีเซลเป็นการลดต้นทุนของผู้ใช้งานให้เล็กลง เพื่อให้ใช้งานได้ถูกลง แต่ต้นทุนทั้งหมดไม่ได้ลดไปด้วย เมื่อลดราคาที่ผู้ใช้งาน ต้นทุนที่ผู้ใช้งานไม่ได้แบกรับไปก็ต้องไปตกอยู่กับผู้ให้บริการและสาธารณะ แล้วปล่อยให้เป็นอย่างนี้มาหลายสิบปี จะมาแก้ไขตอนนี้ก็ไม่ทันเสียแล้ว ตอนนี้ก็เลยได้แต่สมน้ำหน้าคนใช้รถเครื่องดีเซลที่เอามาใช้ในเมือง ไม่เคยขนของ ไม่เคยลุยในป่า ก็แบกรับราคาไปแล้วกัน

อีกเรื่องที่อยากจะบันทึกไว้คือการใช้แก๊ส CNG ตอนนี้เป็นการแก้ไขปัญหาล่วงหน้า ภาครัฐก็พยายามสนับสนุนให้มีการใช้รถ CNG ให้มากที่สุด และเปิดปั๊มแก๊สให้มากขึ้นและทั่วทั้งประเทศ เพื่อแก้ปัญหาว่าจะเติมแก๊สแต่ละทีหาปั๊มยาก และถ้าเจอก็มักจะแก๊สหมดเสมอ แต่การขนส่งด้วยรถบรรทุกคงใช้ไม่ได้ในอนาคตเมื่อมีความต้องการในการใช้งานสูงขึ้นมาก (ขนาดจะเข้ามาแทนน้ำมันให้ได้) ดังนั้นการขนส่งแก๊สต้องคิดใหม่ เอาแบบที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพที่สุด เช่น การขนส่งด้วยระบบท่อไปยังศูนย์กลางภาคหรืออนุภาค (Regional / Sub-Regional Hub) แล้วจากนั้นก็อาจใช้รถบรรทุกขนส่งระยะสั้นไปยังปั๊มแก๊สในขอบเขตให้บริการของศูนย์กลาง พอหาข้อมูลเพิ่มเติมก็เลยทราบว่า ตอนนี้มีโครงการจะสร้างท่อขนส่งแก๊ส CNG ไปยังศูนย์กลางภาค ๑๓ แห่ง "แต่ยังทำไม่ได้เพราะยังไม่ผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม" สาธุ

วันศุกร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ความสับสนแห่งทิศทางการพัฒนาประเทศไทย

ผู้เขียนในฐานะประชาชนธรรมดาไม่ได้มีอำนาจยศฐาบรรดาศักดิ์ มีอิทธิพลต่การกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศแต่อย่างใด กำลังเกิดความสับสนอย่างมากต่อทิศทางการพัฒนาประเทศไทย หลายครั้งหลายหนที่จับพลัดจัดผลูเข้าไปนั่งอยู่ในที่ประชุมที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศที่มีนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง นักธุรกิจ และตัวแทนของประชาชนในภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาแสดงความเห็น ผู้เขียนนั่งเกาหัวฟังพวกเขาแสดงวิสัยทัศน์อันเฉียบคมแล้วก็กลับบ้านไปด้วยความงง ไม่มีครั้งใดที่ผู้เขียนจะสรุปได้ว่าทิศทางการพัฒนาประเทศไทยจะเป็นอย่างไร นี่ขนาดผู้เขียนเป็นบุคคลธรรมดา ไม่ได้เป็นข้าราชการที่จะต้องดำเนินการในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบให้สอดคล้องกับทิศทางการก้าวไปของประเทศ และไม่ได้เป็นผู้ประกอบการภาคเอกชนที่จะต้องพึ่งพาความเสถียรของทิศทางการพัฒนาเพื่อการตัดสินใจในการลงทุน

สิ่งที่ทำให้ผู้เขียนพยายามจะจับจากวิสัยทัศน์ที่ใช้ถ้อยคำสละสลวย ฟังแล้วน่าเชื่อถือ ก็ได้ความว่า คนบางกลุ่มกำลังกังวลถึง "ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ" คนกลุ่มนี้มักจะบ่นว่า ในอดีตเราเคยแข่งกับญี่ปุ่น ต่อมาก็ลดระดับลงมาแข่งกับสิงคโปร์ และตอนนี้กำลังจะแพัเวียดนาม ต่อไปก็คงจะแพ้ลาวและกัมพูชา ในขณะที่คนกลุ่มหนึ่งก็กำลังกล่าวถึงความสุขของประชาชน ไม่ใช่ด้านเศรษฐกิจในวาทกรรมของ "เศรษฐกิจพอเพียง" แล้วตกลงจะเอาอย่างไรกันแน่ ที่น่าสับสนกว่านั้นก็คือ ผู้มีอิทธิพลต่อการกำหนดวิสัยทัศน์ของประเทศไทยเองก็ยังไม่รู้เลยว่าจะไปทางไหนกันแน่ และสองทิศทางนี้แตกต่างกันอย่างไร เพราะมีบางครั้งที่ผู้พูดคนเดียวกัน ตอนต้นบ่นว่าเรากำลังแพ้ประเทศอื่น ๆ เขาทั้งหมด แล้วอีกไม่กี่นาทีถัดมาก็พูดว่าเราจะต้องพัฒนาด้วยแนวความคิดเศรษฐกิจพอเพียง

ถ้าเราตั้งเอาว่า ทิศทางในการพัฒนาประเทศจะต้องมีคุณสมบัติสำคัญสามอย่าง คือ หนึ่งต้องทำให้ประเทศชาติและประชาชนพัฒนาไปในทางที่ดี สองคือสามารถทำได้จริงตามศักยภาพของประเทศและประชาชน และที่สำคัญที่สุด คือ สาม ประชาชนคนปกติที่มีระดับสติปัญญาไม่ทึบต้องเข้าใจได้ว่ามีทิศทางอย่างไร จะได้เดินไปหาจุดหมายเดียวกันอย่างพร้อมเพรียงและไม่เหยียบเท้ากันเองเพราะเดินกันคนละทิศ แล้วถ้าประชาชนยังสับสนระหว่าง "แข่งขัน" กับ "พอเพียง" อยู่จะเดินไปด้วยกันได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานภาครัฐที่ต้องวางระบบโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อเป็นฐานสนับสนุนการพัฒนา ลองคิดดูว่า ถ้าจะวางแผนพัฒนาระบบไฟฟ้า จะวางแผนแบบ "พอเพียง" เพื่อให้ถนนสีลมมีไฟฟ้าใช้อย่างประหยัด รองรับธุรกิจภายในประเทศเท่านั้น ติดต่อกับต่างประเทศนิดหน่อยเท่าที่จำเป็น กับจะวางแผนแบบ "แข่งขัน" เพื่อให้ถนนสีลมเป็นศูนย์กลางด้านการเงินการธนาคารของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แนวทางสองทางนี้ต้องการระบบไฟฟ้าที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง มีวิธีการที่แตกต่าง มีการลงทุนและผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนก็แตกต่างกัน และถ้าคิดไปในโครงสร้างพื้นฐานหลักอย่างระบบคมนาคมขนส่ง การวางแผนระบบคมนาคมภายในประเทศเพื่อภายในประเทศเอง กับการวางเพื่อเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันก็แตกต่างกันอีก

เมื่อสับสนมากมากเข้า ข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นในใจของผู้เขียนก็คือ ช่วยกรุณาเลือกว่าจะเอาทางใดทางหนึ่ง (อย่างน้อยก็ควรจะบอกได้ว่า แนวทางใดเป็นหลัก แนวทางใดเป็นแนวทางรอง) จะทางไหนก็ได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นทิศทางเพื่อ "แข่งขัน" หรือ "พอเพียง" ต่างก็สามารถทำให้ประชาชนมีความสุขได้เช่นกัน เพียงแต่จะสุขแบบใดเท่านั้น แต่ถ้าไม่เลือกทางใดทางหนึ่งให้ชัด การเดินหน้าก็จะไปคนละทาง แถมยังขัดแย้งกันอีกด้วย ซึ่งจะต้องมาแบกรับต้นทุนของความขัดแย้งมากขึ้นอีก เลยขอฝากทุกท่านที่หลงเข้ามาอ่านช่วยบอกผู้ใหญ่ผู้โตและผู้มีหน้าที่ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศทีเถิดว่าจะเอาอะไรก็เอาสักอย่าง อย่างเหยียบเรือสองแคมกันอยู่เลย

ถอดรหัสแม่ค้า

ผู้เขียนมักจะติดตามดูรายการข่าวด้านเศรษฐกิจอยู่เสมอ ๆ เมื่อติดตามหลายปีเข้าก็เกิดข้อสงสัย ลองสังเกตดูว่าในช่วงเทศกาลต่าง ๆ เช่น ปีใหม่ ตรุษจีน คริสต์มาส ที่ผู้คนจะออกมาจับจ่ายใช้สอยกันมากกว่าปกติเพื่อไปสนองพฤติกรรมที่ผูกพันมากับเทศกาลเหล่านั้น ในช่วงเวลาดังกล่าว นักข่าวโทรทัศน์มักจะออกไปสัมภาษณ์แม่ค้าพ่อค้าตามตลาดหรือย่านการค้าสินค้าสำคัญต่าง ๆ เพื่อสอบถามว่า สถานการณ์การค้าขายสินค้าในช่วงเทศกาลเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งในหัวของคนทั่วไปก็จะคิดว่าต้องมีการจับจ่ายซื้อสินค้ากันมากมายแน่นอน แต่ผลของการสัมภาษณ์นั้นมักจะแตกต่างจากความคิดที่อยู่ในหัวของคนทั่วไป แม่ค้าพ่อค้าจะตอบในทำนองว่า "ค้าขายได้ไม่ดี" "ปีนี้ไม่มีคนซื้อเท่าไหร่นัก" พอติดตามข่าวหลายปีเข้า ก็เกิดความสงสัยว่า ทำไมแม่ค้าพ่อค้าเขาตอบว่า "ขายไม่ดี" ได้ทุกปี ไม่ว่าปีนั้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจะดีหรือไม่ดีก็ตาม คำตอบจะเป็นอย่างเดิมเสมอ กลายเป็นความสงสัยติดอยู่ในใจของผู้เขียนว่า ถ้าไม่เห็นมีปีไหนที่เขาขายดี แล้วเขาขายอยู่ทำไม ทำไมจึงไม่เลิกขายของที่ขายไม่ดีแล้วไปทำอย่างอื่นเสียล่ะ

เมื่ออดกลั้นเอาความสงสัยไว้ไม่ได้ ก็เลยไปถามผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการพาณิชย์ เขาหัวเราะหึหึกับความไม่เดียงสาของผู้เขียน เขาตอบว่า ไม่มีใครเขาตอบว่าขายดีหรอก อาจจะเป็นเพราะวิถีคนไทย ต้องบอกว่าไม่ได้ ไม่ดี ไม่สะดวกเอาไว้ก่อน เป็นสันดาน ตัวอย่างเช่น ถ้าเราถามเขาว่าสบายดีไหม เรามักจะได้คำตอบว่าป่วยนู่นนิดนี่หน่อย ทั้ง ๆ ที่คนตอบไม่ได้เป็นอะไรหรอก และอาจจะเป็นเพราะถ้าบอกว่าขายดีจะโดนสรรพากรมาถามหาก็เป็นได้ แล้วคนที่กรุณาให้ความกระจ่างกับผู้เขียนได้ถอดรหัสคำตอบของแม่ค้าพ่อค้าเอาไว้ดังนี้

- ถ้าปากบอกว่า "ขายได้เรื่อย ๆ ไม่ได้มากมายอะไรนักหรอก" ความเป็นจริงคือ "ขายดีมาก ขายเป็นเทน้ำเทท่าเลยหละ"
- ถ้าปากบอกว่า "ไม่ค่อยดี" หรือ "ไม่ดีเท่าปีที่แล้ว" ความเป็นจริงคือ "ขายดีพอควร ตามที่คาดหวังเอาไว้ (ซึ่งมักจะคาดหวังไว้สูง"
- ถ้าปากบอกว่า "ขายไม่ดีเลย ปีนี้ลำบากจริง ๆ " ความเป็นจริงคือ "ขายได้บ้าง ไม่ขาดทุน" ถ้าขาดทุนฉันก็เลิกไปแล้ว ไม่หน้าด้านขายอยู่หรอก
- ถ้าขายไม่ดีจริง ๆ จะไม่ตอบ หรือด่าให้ด้วยซ้ำ

เมื่อผู้เขียนได้ความดังนั้น ก็เลยมาคิดต่อว่ารหัสที่แม่ค้าพ่อค้าได้คิดค้นขึ้น ถ่ายทอดมาจากสันดานของคนไทย ที่ต้องบอกเอาไว้ก่อนว่าตนเองมีปัญหา มีอุปสรรค ไม่สมบูรณ์อยู่นะ เพื่อจะได้รับความเห็นใจ ความช่วยเหลือ (โดยเฉพาะจากภาครัฐ) และป้องกันตนเองจากการหมั่นไส้ เพราะคนไทยเห็นใครได้ดี จะต้องหาข้อเสียของเขามาพูดคุย (ใครดี จะพูดถึงสิ่งไม่ดี แต่ถ้าใครไม่ดีจะพยายามไปหาสิ่งดีของเขาให้ได้) ซึ่งดูแปลกดี แต่คนไทยก็อยู่กันได้ เพราะเราคุ้นเคยกับมัน แล้วก็เห็นเป็นเรื่องปกติ

วันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ทำไมอยู่ในอาคาร ยังต้องกางร่มกันอีก

มนุษย์สร้าง "สิ่งกำบัง" (Shelter) ก็เพื่อปกป้องตนเองจากสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ และสิ่งกำบังที่เราคุ้นเคยกันมากที่สุดก็คืออาคาร ที่ทำหน้าที่กันแดด กันฝน อาคารบางประเภทก็มีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เพื่อให้มนุษย์ที่อยู่ด้านในมีความสะดวกสบายมากขึ้น และ "ท่าอากาศยาน" ก็นับเป็นอาคารประเภทหนึ่ง ที่ทำหน้าที่เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายระหว่างยานพาหนะทางบกกับทางอากาศ และมีฐานะเป็นสิ่งกำบังอย่างหนึ่ง ที่เราคาดหวังว่าอาคารแห่งนี้จะป้องกันมนุษย์จากสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี




แต่ที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ น่าสงสัยว่าอยู่ในอาคารทำไมเคาน์เตอร์ต่าง ๆ ก็ยังมีร่มสนามอยู่แทบทุกเคาน์เตอร์ ตอนแรกคิดว่าคงเป็นการสร้างบรรยากาศแบบตะวันตกให้กับท่าอากาศยานที่ทึกทักตนเองว่าเป็นศูนย์กลางของเอเชีย แต่พอสืบค้นเข้าจริง ๆ กลับไม่ใช่เหตุผลนั้น แต่การที่มีร่มก็เพราะว่าอาคารหลังนี้มีพื้นที่ต่อเนื่องขนาดใหญ่เพื่อรองรับคนจำนวนมาก จึงต้องมีปริมาตร (Volume) ขนาดใหญ่ตามไปด้วย อาคารจึงมีระยะจากพื้นถึงเพดานสูงมาก และผนังก็เป็นกระจกทั้งหมด ผลก็คือ แสงแดดส่องเข้ามาในอาคารได้อย่างสะดวกโยธิน ผู้โดยสารที่ไปใช้งานสนามบินคงไม่เดือดร้อนเท่าไหร่ เพราะอยู่เพียงชั่วคราว เคลื่อนที่อยู่ตลอด และสามารถย้ายตัวเองหลบแดดได้ แต่พนักงานในเคาน์เตอร์บริการเหล่านั้นต้องนั่งทำงานทั้งวัน และย้ายหลบแดดก็ไม่ได้ จึงต้องเอาร่มมาตั้งเพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างสะดวก น่าสงสัยว่า ผู้ออกแบบอาคารทำให้เกิดปัญหานี้ขึ้นมาได้อย่างไร อย่าไปโทษ Helmut Jahn สถาปนิกผู้ออกแบบเพียงคนเดียวเลย พวกสถาปนิกผู้ประสานงานคนไทยก็ต้องรับผิดชอบตรงนี้ด้วยเช่นกัน

นึกภาษาไทยไม่ออก

ที่สนามบินสุวรรณภูมิ มีป้ายบอกทางไว้อำนวยความสะดวกให้กับผู้เดินทาง และเนื่องจากเป็นสถานที่ที่มีคนหลายชาติหลายภาษามาใช้งาน จึงจำเป็นต้องทำป้ายบอกทางเป็นสองภาษา โดยศัพท์บางคำก็เป็นภาษาไทยที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ และบางคำก็ต้องแปลภาษาอังกฤษกลับมาเป็นภาษาไทย


ผู้เขียนไปสะดุดกับป้ายบอกตำแหน่งป้ายรถโดยสารสาธารณะประเภทต่าง ๆ ในท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ เห็นได้ว่าเขาพยายามจะใช้ทั้งสองภาษาโดยไม่ใช้คำทับศัพท์ Shuttle Bus ก็ใช้คำว่า "รถเวียน" Public Bus ใช้กับ "รถโดยสาร ขสมก." แต่ก็มีรถอยู่ประเภทเดียวที่นึกคำภาษาไทยไม่ออก ต้องใช้คำทับศัพท์ คือ "รถแอร์พอร์ต เอ็กซ์เพรส" คิดไปคิดมา ก็น่าจะแปลได้ว่า "รถด่วนสนามบิน" แต่ก็คงไม่สื่อว่าจะวิ่งไปไหน เพราะคนที่จะเห็นป้ายนี้จะออกจากสนามบิน ไม่ได้เข้ามาสนามบิน แล้วรถด่วนสนามบินเขาจะวิ่งออกจากสนามบินไปไหนกันนะ

มหาวิทยาลัยกับสุขอนามัยของบุคลากร

ในความคิดของคนทั่วไปแล้ว มหาวิทยาลัยเปรียบเหมือนสถานที่ศักดิ์สิทธ์ ทั้งเป็นแหล่งความรู้ ความคิด และตัวอย่างทางสังคมในทุก ๆ ด้าน ดังนั้น คนในสังคมจึงตั้งความหวังไว้สูงยิ่งกับมหาวิทยาลัย ว่าจะเป็นสถานที่ที่ดี มีมาตรฐานสูงในทุก ๆ ด้าน รวมถึงด้านความสะอาดและสุขอนามัย


แต่ภาพด้านบนนี้ได้ล้มล้างความคาดหวังของคนในสังคมลงอย่างสิ้นเชิง ตู้น้ำดื่มนี้ตั้งอยู่ในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่และโฆษณาตนเองว่าเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ แต่ไส้กรองน้ำกลับไม่ได้รับการดูแลรักษา ซ่อมบำรุง และเปลี่ยนไส้กรองตามวงรอบเวลาที่ถูกต้อง จึงเกิดเป็นตะไคร่เกาะอยู่กับไส้กรองเต็มไปหมด ประสิทธิภาพในการกรองน้ำให้สะอาดคงใช้ไม่ได้ แถมด้วยเชื้อโรคจากตะไคร่เหล่านั้นเข้าไปอีก พิจารณาดูว่าถ้ามีตะไคร่มากขนาดนี้คงไม่ได้เกิดขึ้นในวันสองวันแน่ แต่ต้องผ่านการเติบโตเป็นเวลานาน น่าสงสัยว่าผู้รับผิดชอบเขาทำอะไรกันอยู่ จึงละเลยเรื่องสุขอนามัยของเด็ก ๆ กันได้ขนาดนี้

"นักการเมือง" ในสายตาของคึกฤทธิ์

เมื่อก่อนผู้เขียนไม่ชอบอ่านหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารทางธุรกิจ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวของผู้เขียนเสียเหลือเกิน การงานก็ผูกพันกับภาครัฐ เคยหยิบมาอ่านแล้วก็ไม่ถูกโรค ไม่เข้าใจข้อเขียนต่าง ๆ ในนั้นเท่าไหร่นัก แต่เมื่อสักสองสามปีที่ผ่านมา มีผู้ใหญ่และคนรู้จักหลายท่านได้ให้เกียรติผู้เขียนให้เข้าไปช่วยงานด้านธุรกิจต่าง ๆ หลายแห่ง เพราะเห็นว่าสิ่งที่ผู้เขียนทำอยู่แม้ว่าจะอิงอยู่กับงานภาครัฐแต่ก็เป็นประโยชน์ต่องานด้านธุรกิจ เมื่อผู้เขียนเข้าไปทำงานเหล่านั้น ก็กลายเป็นการบังคับให้ติดตามความเคลื่อนไหวทางธุรกิจ โดยผ่านหนังสือพิมพ์ วารสาร และนิตยสารทางธุรกิจต่าง ๆ แต่การอ่านอย่างมีเป้าหมายคราวนี้ ทำให้ผู้เขียนเห็นประโยชน์ของหนังสือเหล่านั้น ผู้เขียนพบว่า การวิเคราะห์ด้านการเมืองและเศรษฐกิจของหนังสือด้านธุรกิจเป็นสิ่งที่จับต้องได้และแสดงถึงผลที่เป็นรูปธรรมกว่าหนังสือพิมพ์ธรรมดา เพราะหน่วยธุรกิจต้องการข้อมูลเหล่านี้เพื่อการตัดสินใจลงทุน ซึ่งมีผลต่อองค์กรมากกว่าการอ่านแล้วผ่านไปอย่างการอ่านหนังสือธรรมดา

แล้ววันนี้ ผู้เขียนก็พบบทความที่น่าสนใจอีกหนึ่งบทความ จากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ ๒๒-๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๑ หน้า ๔๒ คอลัมน์ "ประชาชาติปริทัศน์" เรื่องบันทึก-บันทุกข์ ของจรัญ ยั่งยืน ซึ่งเจ้าของบทความได้อ้างถึงหนังสือ "โจโฉ นายกฯ ตลอดกาล" ของ พลตรี มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ได้กล่าวไว้ว่า "สิ่งที่เป็นสุดยอดปรารถนาของนักการเมือง คือ อำนาจ แต่นักการเมืองทุกคนจะไม่ยอมรับข้อนี้ แต่ละคนจะต้องอ้างว่าตัวบำเพ็ญกรณีเพื่อประโยชน์สุขของคนทั้งปวง หรือเพื่อแผ่นดิน หรือเพื่อประชาธิปไตย"

ในหนังสือของท่านคึกฤทธิ์ยังเขียนต่อไปว่า "ความจริงนั้น อำนาจเป็นสิ่งที่นักการเมืองต้องการมากที่สุด เมื่ออำนาจเป็นยอดปรารถนาอย่างนี้แล้ว อำนาจจึงเป็นสิ่งที่กำหนดการกระทำของนักการเมืองในทุกกรณี...ความรัก ความโกรธ หรือคุณโทษ อำนาจเหมือนยาเสพย์ติด ถ้าได้มาแล้วก็ย่อมวางไม่ลง และย่อมจะต้องการอยู่เสมอ ไม่มีวันพอได้ ฉะนั้นเราจะเห็นว่านักการเมืองโดยทั่วไปบำเพ็ญกรณีเพื่อแสวงหาอำนาจ เมื่อได้มาแล้วก็อยากได้ต่อไปอีก ในที่สุดอำนาจนั่นเองก็ทำลายตนลงไป"

"อำนาจทำให้คนเปลี่ยนวิสัยจากคนไปเป็นนักการเมือง ทั้งนี้ก็เพราะว่าความใฝ่อำนาจหรือใฝ่สูงนั้นเป็นสัญชาตญาณของบรรดาสรรพสัตว์ทั้งปวง หากนักการเมืองผู้ใดมาพบเห็นข้อความข้างต้นนี้แล้ว นำไปปรับกับความรู้สึกของตนเอง และเห็นว่าไม่จริงแล้วไซร้ นักการเมืองผู้นั้นพึงรู้ไว้เถิดว่า ตนนั้นมิใช่นักการเมืองที่แท้จริง ถ้าไม่ใช่คนธรรมดาสามัญก็เป็นรัฐบุรุษ ซึ่งเป็นสัตว์อีกประเภทหนึ่งนอกเหนือไปจากนักการเมือง"

เมื่อผู้เขียนอ่านจบแล้ว ก็มานั่นคิดต่อว่า นี่คือ "สัจธรรม" เพราะแต่ไหนแต่ไรมา จากอดีตจนถึงปัจจุบัน จากจูเลียส ซีซาร์ ผ่านนโปเลียนมาจนถึงนักการเมืองชื่อดังทั้งหลายที่ยังโลดแล่นอยู่บนถนนสายอำนาจในปัจจุบัน ก็คงมีสันดานไม่ต่างจากข้อเขียนที่ท่านคึกฤทธิ์ระบุไว้ นี่คือคำตอบว่า ทำไมพวกนักการเมืองจึงแย่งกันเป็นรัฐมนตรี เป็นเลขานุการรัฐมนตรี เป็นกรรมการธิการต่าง ๆ พวกพรรคฝ่ายค้านขอเป็นรัฐมนตรีเงาก็ยังดี ส่วนพวกที่หมดสิทธิ์ลงสมัครก็ขอเป็นหัวหน้ามุ้ง เป็นผู้ชักใยอยู่เบื้องหลัง ด้วย "สันดาน" ดังกล่าวที่สืบทอดกันมาแต่โบราณกาล ผู้เขียนก็เชื่อว่า "สันดาน" นี้ยังคงสืบทอดต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน สมกับการเป็น "เชื้อชั่วไม่มีวันตาย"