วันพุธที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2551

6. ต้องให้คนหมู่มากเดินทางไปทำงานในระยะทางที่สั้นที่สุด

เมื่อจัดประเภทประชากรเมืองออกตามระดับรายได้ พบว่าประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดคือประชากรรายได้น้อย และจำนวนประชากรจะลดลงไปตามระดับรายได้ที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ถ้าต้องการให้มีเกิดเมืองประหยัดพลังงาน จะต้องวางผังการใช้ประโยชน์ที่ดินให้ประชาชนกลุ่มใหญ่ที่สุดสามารถเดินทางในระยะทางที่สั้นที่สุด และเน้นที่การเดินทางเพื่อไปทำงาน (Work Trip) เนื่องจากเป็นประเภทของการเดินทางที่มีปริมาณมากที่สุดในเมือง ซึ่งหลักการดังกล่าวสอดคล้องกับรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบวงแหวนศูนย์กลาง (Concentric Ring) ที่พื้นที่กลางเมืองเป็นศูนย์กลางการค้าและธุรกิจ (Central Business District – CBD) ชั้นถัดมาเป็นพื้นที่รองรับการเปลี่ยนแปลง (Transition Zone) เพื่อรองรับการขยายตัวของ CBD และอีกสามชั้นถัดมาเป็นที่พักอาศัย โดยไล่จากที่พักอาศัยของคนรายได้น้อย ปานกลาง และสูง ตามระยะทางที่เพิ่มขึ้นจากพื้นที่กลางเมือง ด้วยรูปแบบดังกล่าว แหล่งงานของเมืองคือ CBD และการที่กลุ่มประชาชนรายได้น้อยที่เป็นคนหมู่มากของเมืองมีที่พักอาศัยอยู่ใกล้กับ CBD ทำให้เกิดการเดินทางไปทำงานใกล้ที่สุด และการเดินทางของประชาชนกลุ่มนี้ไม่ไปเพิ่มภาระให้กับโครงสร้างพื้นฐานของกลุ่มประชาชนรายได้ปานกลางและรายได้สูง เนื่องจากไม่ต้องถูกใช้เป็นทางผ่านของการเดินทางไปทำงานของประชากรรายได้น้อย ด้วยรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าว จะเกิดการเดินทางรวมของเมืองในระยะทางที่สั้นที่สุด ส่งผลให้เกิดการประหยัดพลังงานโดยอัตโนมัติ

สำหรับมหานครในประเทศกำลังพัฒนา ส่วนใหญ่ราคาค่าโดยสารสาธาณะสำหรับกลุ่มประชาชนรายได้ต่ำส่วนใหญ่ เช่น รถประจำทาง เรือโดยสาร ถูกกำหนดราคาให้เป็นแบบราคาเดียว (Flat Rate) ด้วยอิทธิพลทางการเมือง ปัจจัยเรื่องราคาค่าเดินทางจึงไม่ใช่ประเด็นหลักในการตัดสินใจเลือกที่ตั้งของหน่วยพักอาศัย แต่ราคาที่ดินจะเป็นปัจจัยหลัก ซึ่งราคาที่ดินจะแปรผันโดยตรงกับระยะห่างจากศูนย์กลางเมือง ส่งผลให้ประชาชนรายได้น้อยที่เป็นคนหมู่มากของเมืองไม่สามารถแบกรับราคาที่พักอาศัยใกล้เมืองได้ ต้องไปอาศัยอยู่บริเวณชานเมืองที่มีราคาที่ดินต่ำแต่ต้องเดินทางระยะไกล และทำให้เกิดเมืองแบบวงแหวนศูนย์กลางกลับในออกนอก (Inverse Concentric Ring) ที่ประชาชนรายได้สูงอยู่ใกล้เมืองเนื่องจากมีกำลังทรัพย์พอที่จะแบกรับราคาที่ดินในเขตใกล้เมืองได้ ส่วนประชาชนรายได้น้อยต้องอยู่ไกลออกไปจากพื้นที่กลางเมืองมาก ด้วยรูปแบบดังกล่าวทำให้ปริมาณการเดินทางเพื่อไปทำงานในแหล่งงานกลางเมืองของประชาชนรายได้น้อยซึ่งเป็นคนหมู่มากของเมือง เมื่อเข้าใกล้ศูนย์กลางเมืองขึ้นเรื่อย ๆ ต้องมารวมกับการเดินทางของกลุ่มรายได้ปานกลางและรายได้สูง ส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งและจราจรต้องแบกรับปริมาณการเดินทางจำนวนมากเกินกว่าที่เป็นความต้องการของการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบที่พักอาศัย จึงเกิดการจราจรติดขัดและการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง อย่างไรก็ตาม รูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบวงแหวนศูนย์กลางก็อาจจะไม่เหมาะสมกับมหานครเนื่องจากมีพื้นที่ขนาดใหญ่เกินกว่าที่ศูนย์กลางเดียวจะสามารถให้บริการกับประชาชนทั้งเมืองได้อย่างเหมาะสม จึงต้องมีศูนย์กลางรองที่มีลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบวงแหวนศูนย์กลางมารองรับแหล่งงานและมีการกระจายของประชากรที่เหมาะสมกับความสามารถในการรองรับของศูนย์กลางรองเหล่านั้น