วันศุกร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ความสับสนแห่งทิศทางการพัฒนาประเทศไทย

ผู้เขียนในฐานะประชาชนธรรมดาไม่ได้มีอำนาจยศฐาบรรดาศักดิ์ มีอิทธิพลต่การกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศแต่อย่างใด กำลังเกิดความสับสนอย่างมากต่อทิศทางการพัฒนาประเทศไทย หลายครั้งหลายหนที่จับพลัดจัดผลูเข้าไปนั่งอยู่ในที่ประชุมที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศที่มีนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง นักธุรกิจ และตัวแทนของประชาชนในภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาแสดงความเห็น ผู้เขียนนั่งเกาหัวฟังพวกเขาแสดงวิสัยทัศน์อันเฉียบคมแล้วก็กลับบ้านไปด้วยความงง ไม่มีครั้งใดที่ผู้เขียนจะสรุปได้ว่าทิศทางการพัฒนาประเทศไทยจะเป็นอย่างไร นี่ขนาดผู้เขียนเป็นบุคคลธรรมดา ไม่ได้เป็นข้าราชการที่จะต้องดำเนินการในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบให้สอดคล้องกับทิศทางการก้าวไปของประเทศ และไม่ได้เป็นผู้ประกอบการภาคเอกชนที่จะต้องพึ่งพาความเสถียรของทิศทางการพัฒนาเพื่อการตัดสินใจในการลงทุน

สิ่งที่ทำให้ผู้เขียนพยายามจะจับจากวิสัยทัศน์ที่ใช้ถ้อยคำสละสลวย ฟังแล้วน่าเชื่อถือ ก็ได้ความว่า คนบางกลุ่มกำลังกังวลถึง "ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ" คนกลุ่มนี้มักจะบ่นว่า ในอดีตเราเคยแข่งกับญี่ปุ่น ต่อมาก็ลดระดับลงมาแข่งกับสิงคโปร์ และตอนนี้กำลังจะแพัเวียดนาม ต่อไปก็คงจะแพ้ลาวและกัมพูชา ในขณะที่คนกลุ่มหนึ่งก็กำลังกล่าวถึงความสุขของประชาชน ไม่ใช่ด้านเศรษฐกิจในวาทกรรมของ "เศรษฐกิจพอเพียง" แล้วตกลงจะเอาอย่างไรกันแน่ ที่น่าสับสนกว่านั้นก็คือ ผู้มีอิทธิพลต่อการกำหนดวิสัยทัศน์ของประเทศไทยเองก็ยังไม่รู้เลยว่าจะไปทางไหนกันแน่ และสองทิศทางนี้แตกต่างกันอย่างไร เพราะมีบางครั้งที่ผู้พูดคนเดียวกัน ตอนต้นบ่นว่าเรากำลังแพ้ประเทศอื่น ๆ เขาทั้งหมด แล้วอีกไม่กี่นาทีถัดมาก็พูดว่าเราจะต้องพัฒนาด้วยแนวความคิดเศรษฐกิจพอเพียง

ถ้าเราตั้งเอาว่า ทิศทางในการพัฒนาประเทศจะต้องมีคุณสมบัติสำคัญสามอย่าง คือ หนึ่งต้องทำให้ประเทศชาติและประชาชนพัฒนาไปในทางที่ดี สองคือสามารถทำได้จริงตามศักยภาพของประเทศและประชาชน และที่สำคัญที่สุด คือ สาม ประชาชนคนปกติที่มีระดับสติปัญญาไม่ทึบต้องเข้าใจได้ว่ามีทิศทางอย่างไร จะได้เดินไปหาจุดหมายเดียวกันอย่างพร้อมเพรียงและไม่เหยียบเท้ากันเองเพราะเดินกันคนละทิศ แล้วถ้าประชาชนยังสับสนระหว่าง "แข่งขัน" กับ "พอเพียง" อยู่จะเดินไปด้วยกันได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานภาครัฐที่ต้องวางระบบโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อเป็นฐานสนับสนุนการพัฒนา ลองคิดดูว่า ถ้าจะวางแผนพัฒนาระบบไฟฟ้า จะวางแผนแบบ "พอเพียง" เพื่อให้ถนนสีลมมีไฟฟ้าใช้อย่างประหยัด รองรับธุรกิจภายในประเทศเท่านั้น ติดต่อกับต่างประเทศนิดหน่อยเท่าที่จำเป็น กับจะวางแผนแบบ "แข่งขัน" เพื่อให้ถนนสีลมเป็นศูนย์กลางด้านการเงินการธนาคารของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แนวทางสองทางนี้ต้องการระบบไฟฟ้าที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง มีวิธีการที่แตกต่าง มีการลงทุนและผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนก็แตกต่างกัน และถ้าคิดไปในโครงสร้างพื้นฐานหลักอย่างระบบคมนาคมขนส่ง การวางแผนระบบคมนาคมภายในประเทศเพื่อภายในประเทศเอง กับการวางเพื่อเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันก็แตกต่างกันอีก

เมื่อสับสนมากมากเข้า ข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นในใจของผู้เขียนก็คือ ช่วยกรุณาเลือกว่าจะเอาทางใดทางหนึ่ง (อย่างน้อยก็ควรจะบอกได้ว่า แนวทางใดเป็นหลัก แนวทางใดเป็นแนวทางรอง) จะทางไหนก็ได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นทิศทางเพื่อ "แข่งขัน" หรือ "พอเพียง" ต่างก็สามารถทำให้ประชาชนมีความสุขได้เช่นกัน เพียงแต่จะสุขแบบใดเท่านั้น แต่ถ้าไม่เลือกทางใดทางหนึ่งให้ชัด การเดินหน้าก็จะไปคนละทาง แถมยังขัดแย้งกันอีกด้วย ซึ่งจะต้องมาแบกรับต้นทุนของความขัดแย้งมากขึ้นอีก เลยขอฝากทุกท่านที่หลงเข้ามาอ่านช่วยบอกผู้ใหญ่ผู้โตและผู้มีหน้าที่ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศทีเถิดว่าจะเอาอะไรก็เอาสักอย่าง อย่างเหยียบเรือสองแคมกันอยู่เลย