วันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ทำไมอยู่ในอาคาร ยังต้องกางร่มกันอีก

มนุษย์สร้าง "สิ่งกำบัง" (Shelter) ก็เพื่อปกป้องตนเองจากสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ และสิ่งกำบังที่เราคุ้นเคยกันมากที่สุดก็คืออาคาร ที่ทำหน้าที่กันแดด กันฝน อาคารบางประเภทก็มีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เพื่อให้มนุษย์ที่อยู่ด้านในมีความสะดวกสบายมากขึ้น และ "ท่าอากาศยาน" ก็นับเป็นอาคารประเภทหนึ่ง ที่ทำหน้าที่เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายระหว่างยานพาหนะทางบกกับทางอากาศ และมีฐานะเป็นสิ่งกำบังอย่างหนึ่ง ที่เราคาดหวังว่าอาคารแห่งนี้จะป้องกันมนุษย์จากสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี




แต่ที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ น่าสงสัยว่าอยู่ในอาคารทำไมเคาน์เตอร์ต่าง ๆ ก็ยังมีร่มสนามอยู่แทบทุกเคาน์เตอร์ ตอนแรกคิดว่าคงเป็นการสร้างบรรยากาศแบบตะวันตกให้กับท่าอากาศยานที่ทึกทักตนเองว่าเป็นศูนย์กลางของเอเชีย แต่พอสืบค้นเข้าจริง ๆ กลับไม่ใช่เหตุผลนั้น แต่การที่มีร่มก็เพราะว่าอาคารหลังนี้มีพื้นที่ต่อเนื่องขนาดใหญ่เพื่อรองรับคนจำนวนมาก จึงต้องมีปริมาตร (Volume) ขนาดใหญ่ตามไปด้วย อาคารจึงมีระยะจากพื้นถึงเพดานสูงมาก และผนังก็เป็นกระจกทั้งหมด ผลก็คือ แสงแดดส่องเข้ามาในอาคารได้อย่างสะดวกโยธิน ผู้โดยสารที่ไปใช้งานสนามบินคงไม่เดือดร้อนเท่าไหร่ เพราะอยู่เพียงชั่วคราว เคลื่อนที่อยู่ตลอด และสามารถย้ายตัวเองหลบแดดได้ แต่พนักงานในเคาน์เตอร์บริการเหล่านั้นต้องนั่งทำงานทั้งวัน และย้ายหลบแดดก็ไม่ได้ จึงต้องเอาร่มมาตั้งเพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างสะดวก น่าสงสัยว่า ผู้ออกแบบอาคารทำให้เกิดปัญหานี้ขึ้นมาได้อย่างไร อย่าไปโทษ Helmut Jahn สถาปนิกผู้ออกแบบเพียงคนเดียวเลย พวกสถาปนิกผู้ประสานงานคนไทยก็ต้องรับผิดชอบตรงนี้ด้วยเช่นกัน