วันเสาร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

วิกฤติพลังงาน ประเทศไทยติดบ่วงการบิดเบือนกลไกตลาด

ขอเขียนเรื่องวิกฤติพลังงานอีกครั้ง เพราะยิ่งสืบค้นและติดตามพัฒนาการของการบริโภคพลังงานในประเทศไทยไปลึกเท่าไหร่ ก็ยิ่งเห็นรูรั่วเต็มไปหมด และเมื่อหลายวันก่อนได้อ่านบทสัมภาษณ์ของผู้ที่ใช้รถกระบะที่เติมน้ำมันดีเซล เขาบอกว่าตอนนี้ลำบากมากเพราะน้ำมันดีเซลแพงขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่ารัฐจะให้เงินสนับสนุนเพื่อตรึงราคาให้อยู่ในระดับที่ประชาชนแบกรับไหว อีกทั้งจะเปลี่ยนหนีไปใช้พลังงานทดแทนแบบอื่นก็เป็นไปไม่ได้เสียอีก เพราะเครื่องยนต์ดีเซลไม่มีหัวเทียน จะติดแก๊สไม่ว่าจะเป็น LPG หรือ CNG ก็ต้องปรับแต่งลูกสูบซึ่งมีต้นทุนสูงเกินกว่าที่จะใช้งานแล้วคุ้มทุนในระยะเวลาที่เหมาะสม

พอไปนั่งอ่านหนังสือซื้อขายรถมือสอง ก็พบปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ คือโฆษณาขายรถเครื่องดีเซลทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นรถกระบะหรือรถตรวจการณ์ จะมีข้อความระบุไว้ว่า "ไม่เคยบรรทุกหนัก" หรือ "ไม่เคยลุย" ประกอบอยู่ในโฆษณาหลายชิ้น ทำให้เกิดความสงสัยว่า อ้าวแล้วซื้อรถที่ใช้เครื่องดีเซลมาใช้ทำไม เพราะหลักการของการใช้งานรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลคือใช้กับงานหนัก เช่น งานบรรทุก งานที่จะต้องวิ่งบนพื้นที่มีความต่างระดับกันมาก ดังนั้นเมื่อเป็นรถที่ใช้งานหนักจึงต้องใช้เครื่องยนต์ที่มีกำลังสูงอย่างเครื่องยนต์ดีเซล และที่ตามมากกับกำลังที่สูงขึ้นก็คือราคาน้ำมันดีเซลก็ต้องสูงตามไปด้วย

เมื่อไปสืบค้นราคาน้ำมันในตลาดโลก ก็พบว่าในปัจจุบันน้ำมันเบนซินราคาบาร์เรลละ ๑๒๐ เหรียญปลาย ๆ ในขณะที่น้ำมันดีเซลราคาบาร์เรลละ ๑๖๐ เหรียญปลาย ๆ และราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่พัฒนาแล้วต่าง ๆ ก็ล้วนแต่ตั้งราคาน้ำมันดีเซลสูงกว่าน้ำมันเบนซิน เพราะน้ำมันดีเซลใช้งานในภาคการขนส่ง รถที่ใช้ก็ต้องใช้กำลังมาก จึงต้องเอาไว้ใช้สำหรับการขนส่งเท่านั้น ไม่นำมาใช้กับการขนส่งบุคคลแบบส่วนบุคคล เช่น รถยนต์ส่วนตัว

แต่สำหรับประเทศไทย เรายอมรับว่ารายได้ของประชาชนต่ำเกินกว่าที่จะแบกรับค่าขนส่งแบบไม่มีการชดเชยได้ ภาครัฐจึงเอาภาษีของประชาชนทั้งประเทศมาเป็นเงินสนับสนุนเพื่อชดเชยราคาน้ำมันดีเซล โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ใช้กับการขนส่งเท่านั้น เพราะประชาชนทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนที่ใช้รถหรือไม่ใช้รถก็ตาม ก็จะได้ซื้่อสินค้าในราคาที่ถูกลงเมื่อเทียบกับการคิดตามราคาจริง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทั้งผู้ซื้่อและผู้ขายรถยนต์ก็เห็นช่องทางดังกล่าวว่าจะเอาภาษีของประชาชนที่ชดเชยราคาน้ำมันดีเซลมาเป็นประโยชน์กับตนเองได้ จึงมีการผลิตรถยนต์และรถกระบะเครื่องยนต์ดีเซลออกมาจำหน่าย โดยมุ่งเป้าไปที่กลุ่มที่ไม่ได้ใช้สำหรับการขนส่ง แต่ใช้เหมือนกับรถยนต์ส่วนตัว คือมีคนนั่งคนเดียวหรือไม่เกินสองสามคน และไม่เคยขนของหนักหรือวิ่งลุยในป่าในเขา ผลที่ตามมาก็คือ มีความต้องการสูงขึ้นในการใช้น้ำมันดีเซลที่มีราคาต้นทุนจริงสูงอยู่แล้ว เมื่อ Demand มาก และ Supply น้อย ราคาก็สูงขึ้นตามธรรมชาติ เงินที่ภาครัฐต้องชดเชยราคาน้ำมันดีเซลแทนที่จะใช้ในภาคการขนส่งสินค้าและขนส่งมวลชนเท่านั้นก็ต้องมาใช้ในการขนส่งบุคคลแบบส่วนตัว ผู้ที่ใช้รถกระบะแบบสี่ประตูวิ่งในเมือง ไม่เคยขนสินค้าหนัก ๆ หรือที่ใช้รถ SUV ที่วิ่งในเมืองเพื่อให้ดูเป็นหนุ่มสาวสปอร์ต มีรสนิยมสูงจงสำเหนียกเอาไว้เถิดว่าท่านเอาเงินภาษีประชาชนทั้งประเทศมาใช้เพื่อสนองตัณหาตนเองเท่านั้น ท่านก็ไม่ได้ต่างจากนักการเมืองที่ท่านด่าเช้าด่าเย็นแต่อย่างใด

ในทางวิชาการด้านการขนส่งระบุเอาไว้ว่า โครงสร้างต้นทุนของการขนส่งประกอบด้วยสามส่วน คือ ต้นทุนที่เกิดกับผู้ใช้งาน/ผู้เดินทาง ต้นทุนที่เกิดกับผู้ให้บริการ และต้นทุนที่เกิดกับสาธารณะ (คนทั้งหมดไม่ว่าจะเดินทางหรือไม่เดินทางก็ตาม เช่น สภาพอากาศที่เสียไปจากควันของรถ เป็นต้น) สำหรับประเทศไทยแล้่ว เรา "ติดบ่วงตนเอง" เพราะการที่ภาครัฐชดเชยราคาน้ำมันดีเซลเป็นการลดต้นทุนของผู้ใช้งานให้เล็กลง เพื่อให้ใช้งานได้ถูกลง แต่ต้นทุนทั้งหมดไม่ได้ลดไปด้วย เมื่อลดราคาที่ผู้ใช้งาน ต้นทุนที่ผู้ใช้งานไม่ได้แบกรับไปก็ต้องไปตกอยู่กับผู้ให้บริการและสาธารณะ แล้วปล่อยให้เป็นอย่างนี้มาหลายสิบปี จะมาแก้ไขตอนนี้ก็ไม่ทันเสียแล้ว ตอนนี้ก็เลยได้แต่สมน้ำหน้าคนใช้รถเครื่องดีเซลที่เอามาใช้ในเมือง ไม่เคยขนของ ไม่เคยลุยในป่า ก็แบกรับราคาไปแล้วกัน

อีกเรื่องที่อยากจะบันทึกไว้คือการใช้แก๊ส CNG ตอนนี้เป็นการแก้ไขปัญหาล่วงหน้า ภาครัฐก็พยายามสนับสนุนให้มีการใช้รถ CNG ให้มากที่สุด และเปิดปั๊มแก๊สให้มากขึ้นและทั่วทั้งประเทศ เพื่อแก้ปัญหาว่าจะเติมแก๊สแต่ละทีหาปั๊มยาก และถ้าเจอก็มักจะแก๊สหมดเสมอ แต่การขนส่งด้วยรถบรรทุกคงใช้ไม่ได้ในอนาคตเมื่อมีความต้องการในการใช้งานสูงขึ้นมาก (ขนาดจะเข้ามาแทนน้ำมันให้ได้) ดังนั้นการขนส่งแก๊สต้องคิดใหม่ เอาแบบที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพที่สุด เช่น การขนส่งด้วยระบบท่อไปยังศูนย์กลางภาคหรืออนุภาค (Regional / Sub-Regional Hub) แล้วจากนั้นก็อาจใช้รถบรรทุกขนส่งระยะสั้นไปยังปั๊มแก๊สในขอบเขตให้บริการของศูนย์กลาง พอหาข้อมูลเพิ่มเติมก็เลยทราบว่า ตอนนี้มีโครงการจะสร้างท่อขนส่งแก๊ส CNG ไปยังศูนย์กลางภาค ๑๓ แห่ง "แต่ยังทำไม่ได้เพราะยังไม่ผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม" สาธุ